สธ.พบคนงานเจียรหินแถวเขายายเที่ยงดับด้วยโรคปอดหินคนแรกของประเทศ ฝุ่นหินเข้าปอดจนแข็งเป็นหิน ส่งผลหัวใจล้มเหลว ระบุเป็นแล้วตาย อาการทรุดไม่กี่เดือน
นายกำจัด รามกุล ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้มีโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพที่น่าเป็นห่วงคือโรคปอดหิน โดยจะพบผู้ป่วยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพเจียรหินทราย เพื่อเป็นของตกแต่งบ้าน อาทิ รูปเด็ก รูปพระ ฯลฯ โดยเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาได้พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวแล้ว 1 ราย บริเวณเชิงเขายายเที่ยง ถ.มิตรภาพ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา นับว่าเป็นผู้ป่วยรายแรกที่เสียชีวิตจากการประกอบอาชีพอุตสาหกรรมเจียรหินที่เป็นครัวเรือน นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยอีกหลายสิบราย ซึ่งโดยปกติแล้วจะพบผู้เชียชีวิตด้วยโรคนี้เฉพาะในสถานประกอบการที่เป็นระดับโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น โดยยอดผู้เสียชีวิต ประมาณปีละ 10 ราย
''ชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวประกอบธุรกิจเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน จึงไม่มีกฎหมายและหน่วยงานของรัฐแห่งใดเข้ามาคุ้มครองดูแลอย่างจริงจัง ทั้งกระทรวงแรงงานและกระทรวงอุตสาหกรรมก็ไม่ได้รับผิดชอบ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรน้อยกว่า 7 แรงคน ขณะนี้จึงทำได้เพียงการรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนให้ป้องกันตนเอง''นายกำจัดกล่าว
นายกำจัดกล่าวต่อว่า การเจียรหินทำให้เกิดฝุ่นขนาด 0.5 ไมครอน ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย เนื่องจากร่างกายไม่สามารถกรองหรือขับออกจากร่างกายได้ ซึ่งฝุ่นเหล่านี้มีส่วนผสมของซิลิกา เมื่อสูดดมเข้าไปเป็นระยะเวลานานกว่า 3 ปีขึ้นไป ฝุ่นหินจะเข้าไปจับที่บริเวณปอด จนทำให้ปอดแข็งไม่สามารถขยายตัวรับออกซิเจนได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย โดยโรคนี้ไม่มีอาการบ่งชี้ในระยะเบื้องต้น จะแสดงอาการเมื่อป่วยขั้นรุนแรงแล้ว โดยผู้ป่วยเหนื่อยหอบง่ายและผอม หากมีอาการเป็นมากขึ้นจะทำให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนไม่ดี ทำให้ร่างกายซีดจนถึงขั้นทำงานไม่ได้ และเกิดภาวะหายใจล้มเหลว ทั้งนี้ โรคนี้ไม่มีทางรักษาหาย เสียชีวิตอย่างเดียว และระยะอาการตั้งแต่เริ่มแสดงอาการจนถึงเสียชีวิตมีระยะเวลานานนับเดือนเท่านั้น
นายกำจัดกล่าวอีกว่า สำหรับการวินิจฉัยทั่วไปแพทย์จะเอ็กซเรย์ปอดคนไข้ แต่จะพบจุดบ่งชี้คล้ายวัณโรค จึงทำให้ส่วนใหญ่วินิจฉัยโรคผิดพลาด หากไม่มีการสอบถามประวัติการทำงานของผู้ป่วยวิธีการป้องกันคือ ต้องใช้หน้ากากที่มีระดับการป้องกันระดับสูง อาทิ รุ่นพี1 ซึ่งสามารถป้องกันฝุ่นได้ ร้อยละ 80 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการมักป้องกันโดยใช้หน้ากากที่เป็นผ้าบางหรือไม่ใช้หน้ากากเลย ซึ่งป้องกันฝุ่นที่มีขนาดเล็กระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 0.1-0.5 ไมครอนได้เพียง ร้อยละ 20 เท่านั้น หรือใช้วิธีการเจียรหินที่มีระบบละอองฝอยของน้ำเข้ามาทำให้ฝุ่นหินไม่ฟุ้งกระจาย http://www.matichon.co.th/
เข้าชม : 1908
|